วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2559

แนะนำตัวกันก่อน

สวัสดีครับ ก่อนอื่นก็ต้องแนะนำตัวกันนิดหน่อยว่า คงไม่ถึงขั้นเป็นกูรูที่เก่งชำนาญที่สุดแต่ผมเองก็เป็นอาจารย์พิเศษในเรื่องไอที และก็พอนับได้ว่าพอมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบงาน เขียนโปรแกรม และทำหลายๆ สิ่ง ในลักษณะรับงานเป็นธุรกิจส่วนตัวมาเกือบๆ 20 ปี โดยพัฒนางานตามความต้องการลูกค้า จึงต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ สิ่ง ทั้ง
  •  Hardware (พวก AVR, PIC, Arduino)
  •  Software (ทั้ง Desktop และ Web Application)
  •   งานติดตั้งระบบ Network , Server

จากประสบการณ์ ผมพบว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ คือการเรียนรู้ที่เริ่มจากมีพื้นฐานที่แน่น (ไม่ใช่สูตรลัด) และจากการลงมือทำ คือทำพร้อมๆ กันไปทั้งทางด้านทฤษฎี และการปฏิบัติ และอีกประการหนึ่งคือ ถึงแม้ผมจะทำงานมาหลายปีแต่การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ในแวดวงการศึกษาในสาขาที่จะจบไปทำงานด้านเขียนโปรแกรม (ถ้าไม่ใช่สถาบันระดับชั้นนำจริงๆ ก็จะพบว่า ทั้งอาจารย์และตำรา ก็ยังไม่ค่อยอัพเดตตามอะไรทันสักเท่าไหร่) มีแต่เรียนจบมา แล้วก็ทำอะไรจริงๆ จังๆ ไม่ได้ ทำให้ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่เป็นโปรแกรมเมอร์ (ที่ทำงานได้จริง) จำนวนมาก ทั้งที่มีนโยบายต่างๆ มากมาย เช่น ประเทศไทย 4.0, Digital Economy, การสนับสนุนธุรกิจ Startup  นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาษา ซึ่งคงต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษต่ำมาก ทำให้การหาความรู้ต่อยอดค่อนข้างยาก

ผมจึงอยากสร้างบล็อกนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นอีกแหล่งข้อมูล และแบ่งปันความรู้ สำหรับการพัฒนาตนเองในการเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมใหม่ๆ ที่ทันสมัย โดยเน้นการต่อยอดพื้นฐานจากผู้ที่มีพอจะมีพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว อาจจะจากการศึกษาด้วยตนเอง หรือจากการเรียนจากสถานศึกษา โดยเน้นถ่ายทอดแบบง่ายๆ และลงมือทำไปด้วยกัน แต่ไม่ถึงขั้น advance อะไรมากมายนัก เพราะมีเว็บที่ถ่ายทอดแบ่งปันในลักษณะความรู้ขั้นสูงในกลุ่มนักพัฒนาอยู่พอสมควรแล้ว แต่เว็บหรือบล็อกที่เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ในระดับพื้นฐานค่อนข้างจะหายาก

โดยในช่วงแรกนี้ ผมเห็นว่า เรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาเว็บสมัยใหม่ และแอพพลิเคชั่นบนมือถือ นั้น เป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากหลายปีก่อนค่อนข้างมาก และก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงคิดว่าจะนำเสนอในเรื่องพวกนี้ก่อน เช่น ภาษา Javascript รุ่นใหม่อย่าง ECMAScript 2015 หรือที่เรียกกันว่า ES6 ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในหลายๆ เรื่อง มีคำศัพท์ใหม่ๆ มากมายให้คนรุ่นใหม่ ได้สับสนว่ามันคืออะไรกันแน่ เช่น  React, Angular, MEAN Stack, Node, ฯลฯ ซึ่งก็จะมาถ่ายทอดกันในลำดับต่อๆ ไป ตามโอกาสและเวลา (ที่ว่างของผมนั่นแหละครับ) อันสมควร


ก็หวังว่า ต่อๆไป บล็อกนี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างนะครับ สำหรับคนที่อยากเป็นนักพัฒนาโปรแกรมยุคใหม่ และถ้าใครมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก็ยินดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น